เชื่อหรือไม่ว่ากลไกความคิดเป็นเรื่องของใจ ไม่ใช่สมอง!!! เพราะใจใช้สมองทำงาน โดยออกคำสั่งให้เป็นไปตามเจตนาแห่งใจ จึงกล่าวได้ว่าใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว โดยมีนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กลุ่มทางแพทย์สายพุทธกล่าวเสริมว่าภาวะทางจิตใจทำให้เกิดโรคทางกาย
โดยอ้างถึง ผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ได้ประมวลสรุปไว้ว่าโรคภาวะทางจิตใจสามารถทำให้เกิดโรคทางกายได้หลายชนิด โดยส่งผ่านการทำงานของระบบประสาท อัตโนมัติและฮอร์โมน โรคทางกายที่พบบ่อยได้แก่
1. อาการปวดศีรษะ
ถือเป็นอาการที่พบบ่อยมากที่สุดอาการหนึ่ง เนื่องมาจากมีสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้ได้มากมาย แต่การตรวจร่างกายแล้วพบสาเหตุนั้น กลับพบไม่บ่อย ซึ่งทำให้ทั้งแพทย์และผู้ป่วยไม่สบายใจ เชื่อว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอารมณ์และความเครียด เช่น ภาวะวิตก กังวล หรือภาวะซึมเศร้ามากระตุ้นให้เกิดอาการขึ้นอย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะนี้
นอกจากจะเป็นการแสดงออก ของอารมณ์ภายในแล้วยังอาจมาจากความเชื่อแบบหลงผิด (delusion) หรือเป็นการสื่อให้บุคคลภายนอกรอบตัวผู้ป่วย ให้ความสนใจกับผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งแพทย์ควรให้ความสนใจกับผลของอาการนี้ต่อชีวิตทั่วไปของผู้ป่วยและครอบครัวด้วย ชนิดของโรคปวดศีรษะที่สัมพันธ์กับจิตใจมี
1.1 ไมเกรน
มีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องด้วยกว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยและมักพบในผู้มีบุคลิกภาพแบบพยายามควบคุมทุกอย่างในชีวิตให้ดี มีระเบียบ ไม่แสดงความโกรธแต่ไม่พบว่าจะมีเหตุการณ์ใดที่เจาะจงให้เกิดอาการนี้อาศัยการรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการและใช้จิตบำบัดเพื่อแก้ไขบุคลิกดังกล่าวในระยะยาว
1.2 ปวดศีรษะจากความตึงเครียด (Tension headache)
ส่วนใหญ่มีอาการในช่วงบ่ายหรือเย็นหลังการงานที่ทำให้เครียดหรือบางรายก็มีปัญหากับครอบครัว โรคทางจิตเวชเกือบทุกโรคทำให้เกิดอาการชนิดนี้ได้โดยเฉพาะกับผู้ที่จริงจังและแข่งขัน ควรค้นหาว่ามีโรคทางจิตเวชหรือไม่โดยถามถึงอาการร่วมอื่นๆ อาจให้ยาคลายกังวล ในระยะยาว นอกจากนี้ การฝึกผ่อนคลายการทำจิตบำบัดจะช่วยป้องกันอาการเป็นซ้ำได้
2. โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน
มีข้อสังเกตมานานแล้วว่า เมื่อบุคคลมีความเครียด จะเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย และบ่อยขึ้นจากโรคต่างๆ ไม่ว่าโรคติดเชื้อหรือโรคภูมิแพ้ ปัจจุบันจึงมีการศึกษาทางการแพทย์ในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น แม้การศึกษาจะไม่บ่งชี้ชัดนักในแง่การวัดปริมาณเม็ดเลือดหรือสารภูมิคุ้มกัน เช่น มีเส้นใยประสาทในไขกระดูก หรือต่อมไทมัสหรือหากไฮโปทาลามัส ถูกทำลายจะทำให้ปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่างไปจากเดิม นอกจากนี้ การทำงานของเม็ดเลือดขาว ก็ขึ้นกับสื่อประสาทและฮอร์โมนหลายชนิด หรือโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบางอย่าง รวมทั้งผู้ป่วยเอดส์ มีอาการรุนแรงมากน้อยตามความเครียด มีผู้พบว่าผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับการช่วยเหลือทางจิตใจจะฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น
3. ปวดหลัง
เช่นเดียวกับอาการปวดศีรษะกว่าร้อยละ 95 ของผู้มีอาการปวดหลังไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติที่ชัดเจนได้ นอกจากนั้นพบว่าผู้มีอาการนี้ไม่น้อยมีความกังวลหรือซึมเศร้าร่วมอยู่ด้วย การรักษาจึงอาจให้ยารักษาภาวะดังกล่าวร่วมกับยาแก้ปวด รวมทั้งให้คำแนะนำ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และสนับสนุนให้กลับไปทำหน้าที่
4. ไขข้ออักเสบรูมาตอยด์
มีผู้สนใจในบุคลิกภาพของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ว่า มักมีลักษณะเสียสละ ทำตนให้ลำบาก อดกลั้นและต้องพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด โดยไม่แสดงความรู้สึก และมีบางรายพบว่า อาการกำเริบตามความเครียดทางจิตใจ ผู้ป่วยเหล่านี้มีโอกาสเกิดความซึมเศร้าอันเป็นผลมาจากความพิการจากโรคได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
5. โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
โรคหัวใจขาดเลือด เกิดอาการได้เสมอหากผู้ป่วยเกิดความเครียดหรือโกรธ มีผู้เสนอว่า ผู้ที่ป่วยโรคเหล่านี้มักมีบุคลิกภาพที่แข่งขัน รุนแรง ทะเยอทะยาน ไขว่คว้า และอารมณ์ฉุนเฉียวโดยจะพบระดับโปรตีนในเลือด คอเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงจนเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุ คนเหล่านี้มักมีท่าทีเป็นมิตร เชื่อฟังเคร่งครัดตามกฎ และเก็บงำความโกรธไว้ไม่แสดงออก ร่วมกับมีประวัติครอบครัวของการป่วยโรคนี้ การรักษาทั้ง 2 โรค ได้แก่ การทำจิตบำบัดเพื่อเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต แนวคิดมุ่งหวัง ให้รู้จักผ่อนคลาย ทำเทคนิคคลายเครียดอย่างมีหลักการร่วมกับการใช้ยาควบคุมโรคดังกล่าวโดยตรง
6. โรคระบบทางเดินอาหาร
โรคแผลในกระเพาะอาหารและอาการท้องอืด เป็นที่ยอมรับมานานแล้วว่า อาการและโรคนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับโรควิตกกังวลเรื้อรัง โดยเฉพาะแผลในกระเพาะอาหารมากกว่าแผลในลำไส้เล็กมีการศึกษาด้วยว่า ความกังวลทำให้มีการเคลื่อนไหวบีบตัวของกระเพาะอาหารผิดปกติ ร่วมกับรายงานที่ว่า เมื่อบุคคลต้องเผชิญกับเหตุการณ์เครียดที่รุนแรง เช่น การสูญเสียคนใกล้ชิด จะมีอาการท้องอืดมากกว่าคนทั่วไป การรักษาด้วยยารักษาโรคกระเพาะเท่านั้น จึงอาจไม่เพียงพอในการรักษาหรือป้องกันในระยะยาว การฝึกผ่อนคลาย การแก้ปัญหา และจิตบำบัดร่วมไปด้วย จะทำให้ผู้ป่วยปลอดจากอาการดังกล่าวได้นานกว่าผู้รับประทานยารักษาโรคกระเพาะเพียงอย่างเดียว
ภาวะกลุ่มอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย (Irritable Bowel Syndrome) มักมีอาการท้องผูกสลับท้องเสียปวดท้องมีลมในทางเดินอาหารมากอย่างเรื้อรัง โดยไม่สัมพันธ์กับชนิดของมื้ออาหาร หรือการติดเชื้อ หรือการใช้ยาในสหรัฐอเมริกาพบว่าผู้ไปพบแพทย์ระบบทางเดินอาหารมากกว่าร้อยละ 50 มีอาการนี้ และกว่าร้อยละ 32 มีสมาชิกในครอบครัวที่มีอาการนี้เช่นกัน
การทดสอบด้วยแบบทดสอบทางจิตวิทยาพบว่า ผู้ป่วยจะมีความกังวล ขาดความเชื่อมั่น โทษตนเอง และอาจบอกอาการเจ็บป่วยอื่นๆ อีก คล้ายๆ โรคความผิดปกติทางจิตใจที่แสดงอาการออกทางร่างกาย (กลุ่ม Somatization Disorder) และเมื่อมีความเครียด ผู้ป่วยจะเกิดอาการมากขึ้น และคนรอบข้างจะให้ความสนใจผู้ป่วยมากขึ้นด้วย การรักษาจึงต้องอาศัยหลายวิธี ทั้งการใช้ยารักษาอาการท้องผูก ท้องเสีย การควบคุมชนิดของอาหาร การฝึกผ่อนคลาย การทำจิตบำบัด ให้ยาต้านเศร้า กลุ่ม Tricyclic ร่วมกับการเปลี่ยนการสนองต่อท่าทีของครอบครัวของผู้ป่วยด้วย
7. อาการของระบบทางเดินหายใจ
ที่พบบ่อยมากในห้องฉุกเฉินของทุกโรงพยาบาล คืออาการของระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง (Hyperventilation Syndrome) ที่มีอาการคล้ายหอบหืด โดยผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบเร็ว หัวใจเต้นแรง บ่นแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มือเท้าชา เกร็ง บางรายจะมีนิ้วมือจีบร่วมด้วย
โรคหอบหืด แม้ว่าจะมีการพิสูจน์แล้วว่าอาการของโรคเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันแต่มีข้อสังเกตว่าผู้ป่วยมักมีลักษณะเก็บความโกรธ ไม่สามารถแสดงความอยากพึ่งพิงผู้อื่นออกมา และอารมณ์ดังกล่าว จะถูกส่งผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ กับระบบภูมิคุ้มกันจนเกิดอาการ ดังนั้น เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการเป็นประจำ การมองหาปัจจัยทางจิตใจและแก้ไขนอกเหนือไปจากการให้ยาขยายหลอดลมอาจช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสภาพจิตใจกับการเกิดมะเร็งนั้น ยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าเป็นเหตุและผลต่อกันได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีปัจจัยอื่นอีกหลายประการที่เข้ามามีบทบาทในการเกิดมะเร็ง เช่น พันธุกรรม การใช้ชีวิต การได้เผชิญกับสารต่างๆ ตลอดจนภาวะภูมิคุ้มกันของบุคคลนั้นๆ อย่างไรก็ตาม พบว่าสภาพจิตใจมีผลต่อการดำเนินโรคของมะเร็งอยู่ไม่น้อย
จะเห็นได้ว่า โรคทางกายที่เป็นผลจากจิตใจดังกล่าว แม้จะมีพยาธิสภาพทางกายหรือพยาธิสรีระ ที่เกิดขึ้นจริง แต่การใช้ยารักษาอาการทางกายโดยไม่สนใจสภาพจิตใจ จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้อยลง ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงการรักษาด้านจิตสังคม การเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของผู้ป่วยควบคู่ไปด้วย*
ดังที่ พระอาจารย์ชยสาโรภิกฺขุ ได้แนะนำวิธีบำบัดโรคขี้เบื่อทางจิตด้วยการฝึกให้มีสติอยู่กับความเรียบง่ายในปัจจุบัน วิธีนี้ เป็นวิธีเยียวยาโรคปัจจุบันทางใจได้ชะงัดนัก.โดยท่านกล่าวว่า...
"ในชีวิตประจำวันเรามีโอกาสปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าต้องรู้จักคอยปรับรูปแบบการปฏิบัติให้เหมาะสมตอนอยู่คนเดียวโดยไม่ต้องคิดหรือวางแผนอะไร ไม่ต้องยุ่งกับสิ่งนอกตัว ให้ทำสติอยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน คอยสังเกต ความไม่แน่นอนของความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ฝึกเป็นผู้รู้อยู่ในปัจจุบันบ่อยๆ อาจเจอความจริงที่แปลกประหลาดว่า งานธรรมดา เช่น งานเช็ดถูก็ดี งานทำกับข้าวก็ดี งานปัดกวาดก็ดี สามารทำให้เรามีความสุขจนน้ำตาไหลได้
ความสุขประเภทที่อาศัยคุณค่าภายในเกิดจากสติ เกิดจากสิ่งดีงามที่เราพัฒนาขึ้นในใจ กิจวัตรประจำวันขอสงฆ์ก็ไม่มีอะไรพิเศษ มีงานปัดกวาด เช็ดถู ซ่อมแซม เสนาสนะ เป็นต้น ทางโลกอาจจะเรียกว่างานกรรมกรก็ได้ แต่งานง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้สมองมากแบบนี้ ก็เอื้อต่อความสุขได้มาก สุขกับการมีสติอยู่ในปัจจุบัน
ทุกวันนี้มีโรคร้ายแรงกำลังระบาด โรคที่น่ากลัวมาเรียกว่า โรคขี้เบื่อ ทุกวันนี้มนุษย์กำลังเป็นกันมาก ขี้เบื่อเหลือเกิน ทำอะไรเล็กน้อยไม่นานก็เบื่อ อยากทำอย่างอื่น คอมพิวเตอร์รับเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกหลายอย่างมีส่วนช่วยให้โรคนี้กำเริบ
จริงๆ แล้วผู้จะบรรลุธรรมก็รู้สึกเบื่อหน่ายเหมือนกัน แต่เบื่อคนละอย่าง หลวงพ่อชาเคยบอกว่า ความเบื่อธรรมดาเหมือนลิงเบื่อ ความเบื่อของพระอริยเจ้า คือเบื่อที่จะต้องเป็นลิง เบื่ออย่างแรกร้อน เบื่ออย่างหลังเย็นที่สุด
คนเราจะรู้จักความเบื่อของพระอริยเจ้าซึ่งนำไปสู่มรรคผลนิพพานได้จำเป็นต้องชนะความเบื่อสามัญ ต้องเบื่อที่จะมีจิตคิดแต่เพลงเก่าไม่กี่เพลง ฉันอยาก ฉันชอบ ฉันรัก ฉันเกลียด ฉันอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ทำไปทำมาเราเบื่ออย่างอื่นแต่ไม่ค่อยคิดเลิกยุ่งกับความอยากซ้ำซากที่อยู่ในใจ
โรคขี้เบื่อสามัญนั้นอันตราย เพราะมันทำลายเครื่องเผากิเลสคือความอดทน ทำให้ติดของใหญ่ ไม่ยอมอยู่กับสิ่งละเอียด ฉะนั้นเราต้องฝืนนิสัยขี้เบื่อด้วยการหัดอยู่ในปัจจุบัน ยอมอยู่กับสิ่งที่ไม่น่าตื่นเต้นเลย ไม่มีอะไรดึงดูด ไม่มีส่วนกระตุ้นอารมณ์เราเลย ถ้าเราสามารถมีความรู้ ความตื่นอยู่กับปัจจุบันกับสิ่ง ธรรมดาๆ ได้ จิตใจเราจะเบิกบาน นี่เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ยืนยันกัน
จิตที่พอใจอยู่กับปัจจุบัน ตื่นอยู่ด้วยสติแล้วย่อมไม่รู้สึกซ้ำซากหรือจำเจเลย ความเบื่อสามัญไม่มีโอกาสปรากฏในใจเพราะสติกั้นเอาไว้ทั้งนี้เพราะว่า จิตตกเป็นเหยื่อของตัณหา เพราะอยู่ในปัจจุบันอย่างรอบคอบไม่เป็น เมื่อไม่อยู่กับสิ่งที่เป็นจริงในปัจจุบัน เราชอบปล่อยให้ความจำต่าง ๆ เรื่องอดีต ความคิดปรุงแต่งเรื่องอนาคตสอดแทรกเข้ามา ความหลากหลายของอารมณ์ชวนให้รู้สึกว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่น่าสนใจ
สมมติว่าเราจะทำอะไรสักอย่าง แล้วมีทางเลือกสักสิบทาง ยิ่งหวังผลมาก ก็ยิ่งตัดสินยากใช่ไหม รู้สึกเครียด สุดท้ายก็ตกลงเอาอย่างนี้แหละ แต่ตัดสินแล้ว ยังอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่า ตัดสินถูกหรือเปล่า ดำเนินไปตามทางที่เลือกแล้วก็ยังสงสัยอยู่ จิตจึงหลุดออกจากงานในปัจจุบันได้ง่าย โดยชอบเอาเรื่องที่ไม่ได้ทำเก้าอย่าง เปรียบเทียบกับสิ่งที่กำลังทำอยู่อย่างเดียว อย่างนี้ไม่ยุติธรรม เพราะเป็นเรื่องธรรมดาว่า เมื่อเราเอาข้อดีของอะไรเก้าอย่าง รวมกันเปรียบเทียบข้อดีของสิ่งเดียว สิ่งที่กำลังทำอยู่อย่างเดียวนั้นต้องแพ้ เราคิดผิดตรงนี้ คือเลือกอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เลือกแล้วมีอันเดียว สิ่งที่ไม่เลือกมีมากมาย ผู้ไม่ฉลาดเจออุปสรรคแล้ว มักนึกถึงทางเลือกอื่น ๆ ที่อาจจะได้ผลมากกว่านี้ด้วยความเสียใจ
ผู้เบื่ออารมณ์ชั่วแวบ จะต้องรู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นธรรมดา กิเลสเอาเรื่องอดีตมาฟ้องก็เบื่อหน่ายได้ เพียงเพราะไม่อยากทำสิ่งที่เคยทำอยู่หลายครั้งแล้ว แท้ที่จริงแล้ว ที่เราเคยทำในอดีตทั้งหมดนั้นเดี๋ยวนี้คือความจำที่เกิดขึ้นและดับไปในจิตใจ ถ้ารู้เท่าทันอารมณ์ปัจจุบัน คือความเบื่อแล้วความเบื่อนั้นก็หาย
แทบไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า เรื่องที่ไม่น่าสนุก ที่น่าจะจืดชืด พอเข้าไปสัมผัส จริงๆ แล้ว นักปฏิบัติกลับรู้สึกมีความสุขอย่างที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เราทุกคนมีสิทธิที่จะบรรลุถึงความสุขระดับนี้ และการเข้าถึงความสุขระดับนี้นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลิกแสวงหาความสุขอย่างอื่น เราก็ยังแสวงหาได้พอประมาณแต่เนื่องจากว่าหากมีความสุขภายในเป็นหลักอยู่แล้ว การแสวงหาความสุขภายนอกจะเป็นไปในลักษณะที่พอดี อย่างน้อยที่สุดก็ไม่เป็นเหตุให้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ทำให้ผิดศีลธรรม และก็เป็นการแสวงหาความสุขที่เสริมหรือประดับของเดิม อย่างนี้ก็สบาย อยู่คนเดียวก็สบาย อยู่กับครอบครัวก็สบาย อยู่กับคนมากก็สบาย มีหลักของเราแล้วสิ่งแวดล้อมมีอำนาจกำหนดอารมณ์เราน้อย"
ลองนำไปปฏิบัติพิสูจน์ดูกันนะคะ ดีกว่าปล่อยให้ชีวิตต้องตกอยู่ในกำมือผู้อื่น เราควรอาศัยหมอช่วยซ่อมกายเป็นครั้งคราว แต่โรคทางใจ เราต้องเยียวยารักษากันเอง ไม่มีใครจะคอยเฝ้าดูแลแทนตนเองได้!!!
ที่มา : ASTVผู้จัดการรายวัน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต